วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

GO TO TRIP.(วันที่สาม)

   เช้าวันที่สาม หมู่คณะได้ออกเดินทางไป วัดปงสนก ซึ่งเป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ที่วัดปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และฝังลูกนิมิตร เมื่อ พ.ศ. 3214 สันนิษฐานว่าวัดนี้คงสร้างขึ้นร่วมสมัยพระเจ้าอนันตยศเสด็จมาทรงสร้างเมืองเขลางค์ เมื่อพ.ศ. 1223 บริเวณวัดปงสนุกตั้งอยู่ติดกำแพงเมืองเขลางค์รุ่นที่ 2 ด้านใน จากการศึกษาสภาพสิ่งก่อสร้างเท่าที่ปรากฏปัจจุบัน มีอาคารสถานก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุด คือ เจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งปรากฏในบันทึกมีการบูรณะครั้งหลังประมาณ 120 กว่าปีมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นพยานวัตถุบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดสืบทอดกันมาจากอดีต เป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว
            วัดปงสนุก เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ ตามหลักฐานที่พบจารึกอยู่ในที่ต่างๆ มีอยู่ 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ , วัดดอนแก้ว , วัดพะยาว (พะเยา) ชื่อวัดทั้งหมดที่พบดูจะมี 2 ชื่อ ที่เกี่ยวกับประวัติของบ้านเมืองในอดีตที่ผ่านมา คือ ชื่อวัดพะยาว (พะเยา) และชื่อวัดปงสนุก ด้วยเหตุการณ์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2364 ทางเมืองนครลำปางและเมืองเชียงใหม่ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน เมืองเชียงแสนได้สู้รบต่อต้านเป็นสามารถ แต่สู้กำลังของเมืองลำปางและเชียงใหม่มิได้ เมืองเชียงแสนจึงแตก ทางกองทัพจึงได้กวาดต้องเอาชาวเชียงแสนลงมาสู่เมืองนครลำปาง ในชาวเมืองเชียงแสนเหล่านั้นได้มีชาวบ้านปงสนุก (เชียงแสน) รวมอยู่ด้วย ส่วนชาวเมืองพะเยา เจ้าฟ้าเมืองพะเยา ได้อพยพขาวพะเยาหนีข้าศึกพม่า คราวเมืองพะเยาแตกลงมาสู่นครลำปาง ในช่วงเวลาใกล้เคียง ชาวเมืองทั้งสองจึงถูกจัดแบ่งให้อยู่ทางฝั่งเวียงเหนือของเมืองนครลำปาง โดยเฉพาะบริเวณวัดศรีเชียงภูมิ ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองเชียงแสนและชาวเมืองพะเยา เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใหม่และไม่ทราบอนาคตของตนเอง แต่ก็ยังรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน จึงได้เอานามชื่อวัดและชื่อบ้านมาเรียกโดยชาวพะยาว (พะเยา) ก็เรียกวัดพะยาว บ้านพะยาว ชาวเชียงแสนก็เรียก วัดปงสนุก บ้านปงสนุก
(ปัจจุบัน วัดปงสนุกใน อ.เชียงแสน อันเป็นชุมชนเดิมของบ้านปงสนุกลำปาง ก็ยังมีอยู่ ตั้งอยู่บ้านหมู่ที่ 3 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นวัดโบราณมีอายุกว่า 500 ปี) สำหรับชาวพะเยา พอถึง พ.ศ. 2386 เจ้าหลวงมหาวงค์ ขึ้นไปตั้งเมืองพะเยา เมื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว ครูบาอินต๊ะจักร จึงได้อพยพชาวพะเยากลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอน คงเหลือชาวพะเยาที่ไม่ยอมกลับ ไม่นานนัก ตรงกันข้ามกับชาวปงสนุก ไม่มีการอพยพกลับไป ได้ยึดเอานครลำปางเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่สอง ดังนั้นชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านก็คงเหลือไว้เรียกขานกันเพียงชื่อเดียวว่า “ปงสนุก” ตราบเท่าทุกวันนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดปงสนุก แยกเป็น 2 วัด ทั้งที่อาณาเขตก็ไม่กว้างขวางเท่าใด คือ วัดปงสนุกเหนือ และวัดปงสนุกใต้ สาเหตุที่แยกคงจะมาจากพระสงฆ์ สามเณรในอดีตจำนวนมาก จึงแบ่งกันช่วยดูแลรักษาวัด แต่ถึงอย่างไร ทั้ง 2 วัดนี้ก็ถือกันว่าเป็นวัดพี่วัดน้องอาศัยช่วยเหลือกันมาโดยตลอด
(อ้างอิงhttp://province.m-culture.go.th/lampang/wat/w1.html)






















         วัดปงสนุกมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนา จุดเด่นคือรูปแบบของหลังคาที่มุขหลังคาทั้งสี่ด้านลักษณะของโครงสร้างมีการแยกของหลังคาหลักตรงกลางโดยโครงสร้างหลังคาช่วงล่างและมุขหลังคาไม่ได้ยึดถ่ายแรงลงเสาเพราะการเจาะเสานั้นจะทำให้รับแรงได้น้อยลงจึงมีการแก้ปัญหาโดยการใช้ม้าต่างไหมมายึดเสารองรับมีโครงหลังคาและมุขหลังคา จุดเด่นอีกอย่างคือการต่อไม้ จุดเชื่อมน่าสนใจเพราะส่วนตะเข้สันมีการยืนคานไปรับค่อนข้างมีระยะที่มากพอสมควร
           หลังจากนั้นเราได้เดินทางไปยังวัดไหล่หิน วัดนี้ถ้าจะเรียกให้เต็มก็คือ วัดไหล่หินหลวง หรือ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า วัดเสลารัตนปัพพตาราม ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลไหล่หิน อ. เกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 6 กม. เศษ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ และตามประวัติบ่งว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 218ซึ่งนานกว่าสองพันสามร้อยปีมาแล้ว!
        วัดนี้มีประวัติยืนยาวกว่าประวัติของดินแดนสยามได้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของตำนานครับ ประวัติของวัดที่อยู่ในเอกสารที่วัดนี้พิมพ์แจกนั้นเขาเขียนไว้อย่างนี้ว่า เมื่อปี 218 นั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แห่งอินเดีย ได้พบพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองราชคฤห์ พระองค์ทรงเกิดศรัทธาปสาทะแรงกล้า ต้องการสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง จึงทรงมอบพระบรมสารีริกธาตุให้พระเถระสององค์ คือ พระกุมารกัสสปะ และ พระเมฆิยะเถระ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรทุกช้างมาจากประเทศอินเดียเพื่อไปบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่เมื่อขบวนช้างรอนแรมมาถึงบริเวณเนินเขานี้ ขบวนช้างนั้นก็หยุดเดิน ไม่ว่าจะขับไสอย่างไรก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์จึงได้ปรึกษาหารือกันแล้วให้สร้างพระเจดีย์สูง ๔ ศอกขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งไว้เป็นอนุสรณ์ พร้อมกันนั้นพระเถระก็พยากรณ์ว่าต่อไปสถานที่นี้จักรุ่งเรืองเป็นวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่อไป หลังจากนั้นขบวนช้างก็เดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำนานนี้จริงแท้อย่างไรก็คงยากที่จะพิสูจน์เสียแล้ว
        ประวัติที่มีหลักฐานปรากฏมากขึ้นคือเมื่อราว พ.ศ. 2181 ที่วัดนี้มีพระภิกษุสามเณรมาบวชเรียนกันมาก มีเณรน้อยองค์หนึ่งเดินทางจากลำพูนมาอยู่ที่วัดนี้ เณรองค์นี้ชอบใช้ผ้าจีวรสีคล้ำ และไม่ชอบท่องบ่น เล่าเรียน เขียนอ่านตามคำสั่งของสมภารเจ้าวัด วัน ๆ หนึ่งก็ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว แม้พระอาจารย์จะให้ใบลานจารึกมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพลไปท่อง เณรน้อยก็ไม่สนใจ วันหนึ่งท่านอาจารย์จึงสั่งให้ไปแสดงธรรมให้ชาวบ้านฟัง เณรน้อยนั้นก็กราบพระแล้วเอาใบลานผูกนั้นวางไว้หน้าพระประธาน ส่วนตนเองก็ขึ้นไปแสดงธรรมปากเปล่าโดยข้อความนั้นตรงกับคำในใบลานตลอดทั้งกัณฑ์ไม่ผิดเพี้ยน ต่อมาท่านสมภารก็ให้เอาใบลานมาตัดเชือกออกทุกผูกแล้วกองกันเป็นกองเดียว จากนั้นก็ให้สามเณรจัดเรียงใบลานเหล่านั้นให้ถูกต้องตามเนื้อหา ซึ่งเณรน้อยก็สามารถทำได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวสามเณรน้อยองค์นี้มาก
        ต่อมาในพ.ศ. 2193 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีฉายาว่า "มหาเกสรปัญโญภิกษ" และคนทั่วไปมักจะเรียกชื่อท่านว่าครูบามหาป่า ต่อมาท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดไหล่หินและช่วยทำความเจริญให้แก่มากยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเป็นนักปฏิบัติและมีความรู้ในธรรมะแตกฉาน วันหนึ่งๆ สามารถแต่งและเขียน (จาร) ธรรมได้เป็นจำนวนมาก การปฏิบัติของท่านถึงระดับสามารถเหาะไปบิณฑบาตในหมู่บ้านไกลๆ เช่น ไทยใหญ่ในแคว้นเชียงตุงได้ เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงที่เลื่อมใสท่านได้ถามว่าท่านจำพรรษาอยู่ที่ใด แต่ท่านก็ตอบเป็นปริศนาว่าท่านอยู่วัด "ขบ บ่ แตก" ท่านเจ้าฟ้าได้ให้เสนาค้นหาวัดชื่อนี้ตลอดแว่นแคว้นก็หาไม่พบ ต่อมาเจ้าฟ้าจึงให้เสนานำมะพร้าวลูกหนึ่งมาปอกเปลือกและขูดกะลาจนเกลี้ยง จากนั้นให้ผ่าเป็นสองซีก ซีกหนึ่งเจ้าฟ้าเก็บไว้ อีกซีกหนึ่งถวายให้ท่านมหาเกสรฯ เมื่อท่านมารับบาตรในตอนเช้า >พร้อมกับนมัสการว่า "ขออาราธนาพระคุณเจ้าฉันเนื้อมะพร้าวแล้วเก็บกะลาไว้ด้วย ข้าพเจ้าจะไปรับเอากะลาทีหลัง"
        ต่อจากนั้นเจ้าฟ้าเชียงตุงก็ให้บริวารออกเสาะหาวัดของพระเถระด้วยศรัทธาแรงกล้า จนเวลาผ่านไป 7 เดือนจึงมีเสนากลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึงวัดไหล่หิน และได้นมัสการพระคุณเจ้าพร้อมกับถามถึงกะลาที่เจ้าฟ้าเชียงตุงถวายให้ พระเถระก็นำกะลาซีกนั้นมาให้ดู เสนากลุ่มนั้นจึงกลับไปกราบทูลเจ้าฟ้าเชียงตุงให้ทราบว่าพระเถระอยู่ที่วัดไหล่หิน เจ้าฟ้าเชียงตุงก็พาข้าทาสบริวารมายังวัดไหล่หิน และช่วยกันสร้างพระวิหาร และ บูรณะพระธาตุเจดีย์ที่มีมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 218 นั้น
        โบราณสถานสำคัญในวัดนี้ก็คือพระวิหารซึ่งเป็นศิลปะล้านนาที่แปลกกว่าที่อื่นๆ พระวิหารนี้มีกำแพงก่ออิฐถือปูนล้อมโดยรอบ และกำแพงด้านหน้าพระวิหารก่อซุ้มประตูสวยงามสำหรับเดินเข้าไปสู่ลานด้านใน ประตูนี้เรียกว่าประตูโขงซึ่งแม้จะชำรุดไปบ้างแล้วแต่ก็ยังงดงาม ซุ้มประตูนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเถระมหาป่า และมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในปี 2477 รวมแล้วก็กว่าเจ็ดสิบปีแล้ว ยอดซุ้มประตูโขงทำเป็นรูปมงกุฎ โดยรอบปั้นเป็นรูปสัตว์สารพัดชนิดในอิริยาบถต่าง ๆ แบบธรรมชาติ สลับกับลวดลายไทย นับเป็นศิลปะปูนปั้นที่แปลกตามาก ในทัศนะของผมนั้นเห็นว่างามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่งต่างจากศิลปะปูนปั้นอันเป็นฝีมือลือชื่อของช่างเพชรบุรี
        เมื่อเดินเข้าไปก็ได้เห็นพระวิหารที่มีความกว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร หน้าบันเป็นลวดลายไม้แกะสลักงดงาม ฝีมือช่างล้านนาอาจจะแปลกตาสำหรับคนกรุงเทพฯ อย่างผมมากทีเดียว น่าเสียดายที่ความเก่าแก่ของผลงานเริ่มส่งผลให้เห็นความผุกร่อนอย่างน่าเป็นห่วง
        ทางขวามือของเราเป็นศาลาเล็ก ๆ ซึ่งดูแปลกเพราะดูเหมือนด้านหน้าจะต่ำกว่าด้านหลังทำให้แลดูเหมือนศาลากำลังทรุด แต่เมื่อดูเสาก็ยังเห็นตั้งตรงเป็นปกติ ด้านหลังวิหารมีพระธาตุขนาดเล็กก่ออิฐถือปูนอยู่องค์หนึ่ง บนของรอบองค์พระธาตุปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิด
        ในวัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของเก่าอยู่แห่งหนึ่ง เป็นอาคารก่ออิฐมั่นคงถาวร เจ้าหน้าที่ของวัดได้เอื้อเฟื้อหากุญแจมาเปิดให้เข้าไปชมภายใน ซึ่งมีของเก่าตั้งแต่สมัยครั้งครูบามหาป่า เช่น เตียงนอน และเครื่องใช้อื่น ๆ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องใช้พื้นบ้าน พระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องเก่า ที่แปลกตาคือ ตาลปัตรที่สามารถหุบได้ ลักษณะเหมือนพัดพับที่คลี่ออกมาเป็นรูปวงกลมได้ ที่นี่มีเอกสารใบลานที่กล่าวกันว่าเก่าแก่มากที่สุดในประเทศด้วย การจัดของยังไม่ค่อยเรียบร้อยดีนัก เพราะสถานที่คับแคบมากกว่าของที่จะนำมาตั้งแสดง ผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ก็คงจะเป็นอาสาสมัคร การทำบันทึก หรือ คำอธิบายจึงอาจจะไม่สมบูรณ์มากนัก
(อ้างอิงhttp://www.drkanchit.com/general_articles/articles/general_27.html)


















          วัดไหล่หิน จากภายนอกมีการเล่นมุมมอง การนำสิงห์ออกห่างตัววิหารและซุ้มประตู เพื่อมุมมองระยะไกลจะเห็นสิงห์ขนาบข้างมีขนาดสัดส่วนที่พอดี วิหารหลักมีวิหารคตล้อมรอบมีลานทรายมีซุ้มประตูโขง โดยแกนหลักจะไล่ระดับ เช่นผ่านทางเข้ามีสิงห์ขนาบคู่ ผ่านซุ้มประตูโขง ผ่านวิหาร และเจดีย์ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแกนเดียวกัน วัดไหล่หินมีอาคารอื่นๆที่น่าสนใจรอบๆ มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างดี มีต้นไม้ให่เป็นฉากด้านหลังส่วนใหญ่เป็นต้นยาง มีพืชพันธ์คลุมดิน มีลานทรายเป็นตัวเชื่อมอาคารและที่ว่างต่างๆเข้าด้วยกัน















        หมู่คณะเราออกจากวัดไหล่หิน ไปต่อยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาทด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์

ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าวและมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน





          ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน














       วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่งดงามมาก ผมไม่ขอเล่าความคิดเห็นอะไรมากขอเป็นประทับใจมากกว่า หมู่คณะจะเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่แต่รถบัสเสีย กลุ่มรถบัสเราจะขึ้นรถไฟไปเชียงใหม่ คิดว่าเป็นครั้งแรกในการจัดทริปที่ได้นั่งรถไฟถึงเป็นระยะทางไม่กี่ชั่วโมงแต่ก็รู้สึกดีได้เจอมุมมองใหม่ๆ.......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น